เนรมิตพื้นที่ความสุข
ในโลกนี้มีสิ่งเดียวที่ไม่ว่าเราจะใช้ประโยชน์หรือไม่ใช้ก็ตามสุดท้ายก็สูญไปอยู่ดีก็คือเวลานั่นเอง แล้วเราจะใช้เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันอย่างไร เพราะในบางเรื่องราวก็ไม่ได้มีเวลาให้เรามากพอที่จะรออย่างใจเย็น
เช่นเดียวกับครอบครัวคุณเอ๋-ชนัญชิดา วิบูลคณารักษ์ ที่ผ่านเหตุการณ์คุณพ่อล้มป่วยอย่างกะทันหันด้วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อปี พ.ศ.2563 ซึ่งโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ทั้งสิ้น ทุกสิ่งเกิดขึ้นเร็วมาก ทําให้เกิดการปรับเปลี่ยนชีวิตกันแบบฉับพลันทั้งคุณพ่อ รวมทั้งคุณเอ๋และครอบครัว
“ครอบครัวเรามีกัน 3 คนพี่น้อง พี่เป็นลูกสาวคนโต มีน้องชาย 2 คน รับราชการ ต่างก็แยกครอบครัวกันไปมีบ้านเป็นของตนเอง ส่วนคุณพ่อ-คุณแม่ ก็เกษียณมา 10 กว่าปีแล้ว อยู่กัน 2 คนที่บ้านของท่าน คุณพ่อมีสุขภาพแข็งแรงใช้ชีวิตอิสระขับรถไปไหนด้วยตัวเอง คุณแม่ก็มีกิจกรรมพบปะเพื่อนๆ อยู่เสมอ ซึ่งบ้านของแต่ละครอบครัวก็อยู่ไม่ไกลกันมาก คุณพ่อก็จะขับรถมาหาพี่และมาเยี่ยมหลานๆ เป็นประจําทุกสัปดาห์”
คุณเอ๋ เล่าถึงชีวิตวัยเกษียณของคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระ มีความสุขกับกิจกรรมในทุกๆ วัน โดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ ที่คุณพ่อล้มป่วยกะทันหัน แบบเปลี่ยนชีวิตทุกคนไปจากเดิม
ในทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดเรื่องราวดีๆ เสมอ “วันหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คุณพ่อมาเยี่ยมหลานๆ ที่บ้านเป็นปกติเหมือนทุกครั้ง วันนั้นคุณพ่อนั่งดื่มกาแฟอยู่ที่ห้องรับแขก รอหลานๆ มาหา อยู่ๆ ก็เกิดอ่อนแรงและหมดสติไป ลูกชายคนโตของพี่เข้ามาเห็นพอดี เขาตกใจมากเรียกให้ทุกคนในบ้านมาช่วย ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก พี่ก็รีบโทรตามรถพยาบาลมารับ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดกําลังระบาดใหม่ๆ รถพยาบาลก็ถูกใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิดจึงหายากและใช้เวลานานกว่าจะมารับคุณพ่อเพื่อไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านเราที่สุด
พอไปถึงโรงพยาบาลระบบการป้องกันและคัดกรอง โควิดก็เข้มงวดมาก ไม่ว่าจะป่วยในกรณีใด เคสฉุกเฉินแค่ไหน ก็ไม่สามารถพบแพทย์ได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองโควิดก่อนแล้วต้องรอฟังผล แพทย์จึงจะมาทําการตรวจรักษาได้ เลยทําให้เสียเวลาไปหลายชั่วโมง ซึ่งโรคที่คุณพ่อเป็นคุณหมอบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke คือมีลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง หากสามารถทําการสลายลิ่มเลือดหรือดึงลิ่มเลือดออกมาได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมง โอกาสในการฟื้นฟูสมองและร่างกายให้กลับมาเหมือนเดิมจะมีสูงมาก
แต่ด้วยระยะเวลาที่เสียไปในช่วงที่รอรถพยาบาลและรอผลตรวจโควิด ทําให้เวลาที่จะดึงลิ่มเลือดออกมาได้นานเกินกว่า 4 ชั่วโมง แต่สุดท้ายผลการรักษาก็ผ่านมาได้ด้วยดี คุณพ่อปลอดภัย แต่ร่างกายซีกขวาอ่อนแรงและไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้ แต่คุณพ่อมีกําลังใจที่ดี และจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด วันนั้นพี่ตัดสินใจว่าจะขอดูแลคุณพ่อให้ดีที่สุดเท่าที่พี่จะทําได้ และจะขอให้ท่านมาอยู่ที่บ้านพี่เพื่อจะได้ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด และทําใจไว้พร้อมแล้วว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่”
จินตนาการพื้นที่ความสุขทุกคน
“ตอนที่คุณพ่อออกมาจากห้องฉุกเฉิน พี่คุยกับสามีว่าพี่เป็นห่วง คุณพ่อมาก หากรักษาหายแล้วกลับไปอยู่ที่บ้านท่าน คิดว่าคุณแม่ก็ดูแล ไม่ไหว เพราะอายุก็มากด้วยกันทั้งคู่ และคุณแม่ก็มีความสุขในการไป ท่องเที่ยวทํากิจกรรมกับเพื่อนๆ สูงวัยของเขา โชคดีที่สามีพี่เอ่ยปาก บอกก่อนเลยว่าเราต้องพาคุณพ่อมาอยู่กับเราแล้วนะ ถึงเวลาที่เราจะได้ดูแลท่านให้ดีที่สุดแล้ว”
ช่วงที่คุณพ่อรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล พี่ก็เริ่มคิดว่าจะปรับปรุงบ้าน ยังไงดี เดิมจะต่อเติมพื้นที่ตรงที่จอดรถให้เป็นห้องให้คุณพ่ออยู่ แต่ก็มาคิดถึงความรู้สึกคุณพ่อ ถ้าท่านต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมก็คงไม่ดีแน่ จะทําให้ยิ่งป่วย แทนที่จะฟื้นฟูให้ท่านกลับมาแข็งแรงแล้วมาอยู่แบบนี้ ท่านก็จะรู้สึกเกรงใจลูกหลาน เราก็ไม่อยากให้ท่านคิดว่าท่านป่วยแล้วต้องมาอาศัยอยู่กับเรา ไม่อยากให้ท่านไม่สบายใจ ก็คิดว่าสร้างบ้านอีกหลังในพื้นที่สวนที่ยังพอมีอยู่ดีกว่า ให้คุณพ่อมีบ้านเป็นของตัวเองมีพื้นที่ทีเป็นสัดส่วนมีความเป็นส่วนตัว แต่มีทางเดินที่ยังเชื่อมถึงกันได้ ไม่ให้รู้สึกว่าถูกแยกออกไป คือมีความเป็นส่วนตัว แต่ก็ยังมองเห็นกันเดินไป หากันได้ตลอดเวลา”
“ทีนี้ก็มาคิดว่าแล้วบ้านจะเสร็จเมื่อไหร่ล่ะ คุณพ่อก็ใกล้จะออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาพักฟื้นที่บ้าน ยังไงก็คงสร้างเสร็จไม่ทันแน่ๆ ก็เริ่มหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และพบว่ามีบ้านแบบโมดูลาร์ที่น่าจะเป็นทางเลือก ที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ทุกอย่างที่ต้องการได้ เพราะสามารถเลือกแบบขนาดพื้นที่ใช้สอย จํานวนห้อง รวมถึงใช้เวลาในการก่อสร้างและติดตั้งเพียง 3 เดือน จากนั้นก็เริ่มตระเวนไปดูอยู่หลายที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนสุดท้ายก็มาสรุปที่ “โมดูลักซ์”
“โมดูลักซ์” ตอบทุกโจทย์ที่ต้องการ
“หลังจากไปตระเวนดูหลายที่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ตามที่เราต้องการ เนื่องจากต้องการบ้านสําหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลุกเดินเองได้ ก็เลยหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับบ้านโมดูลาร์สําหรับผู้สูงอายุ พบข้อมูลของบริษัท “โมดูลักซ์” ก็เลยตามไปดูที่โชว์รูมได้พบกับคุณศุภกิจ (สถาปนิก) ก็ให้ข้อมูลว่าบ้านของ “โมดูลักซ์” ออกแบบตามแนวคิด Universal Design คือเขาคิดไว้พร้อมเลยสําหรับผู้สูงอายุในเคส ต่างๆ มีความเข้าใจในทุกรายละเอียด แล้วเราเข้าไปในบ้านตัวอย่างที่สร้างไว้เป็นโชว์รูมก็รู้สึกสบาย ไม่ร้อน เห็นว่าการออกแบบต่างๆ ได้คิดไว้ อย่างรอบคอบจริงๆ อย่างเช่น บานประตูจะเป็นแบบเลื่อนไม่ใช้ลูกบิดเพราะผู้สูงอายุจะไม่มีแรงในการหมุนข้อมือมากนัก ส่วนที่พื้นตรงรอยต่อของแต่ละห้องก็จะไม่มีสเต็ป เพื่อรองรับการใช้รถเข็น (วีลแชร์) หรือการใช้วอล์คเกอร์ช่วยเดินสําหรับผู้สูงอายุที่พอจะเดินได้
ที่ประทับใจคือ ห้องน้ําที่ออกแบบให้ใหญ่เป็นพิเศษ มีการคํานวณระยะต่างๆ ไว้อย่างดีเพื่อรองรับการใช้รถเข็นที่ต้องหมุนไป-กลับและเข้า-ออกจากห้องน้ําได้ สะดวกไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวเองหรือมีผู้ดูแลช่วยเหลือ ก็ตกลงสรุปเลือก “โมดูลักซ์” เขาก็ออกแบบพื้นที่ใช้สอยตามความต้องการของเรา คือเราให้โจทย์ไป เขาก็ออกแบบให้ครบ คือพี่ขอให้มีห้องหลักๆ 3 ห้อง คือ ห้องนอน ห้องน้ํา และห้องนั่งเล่น ที่ขอห้องนั่งเล่นไปเพื่อให้คุณพ่อมีพื้นที่สบายๆ นั่งดูทีวี ทํากายภาพและสามารถรับแขก เวลาเพื่อนๆ คุณพ่อมาเยี่ยมเยียนก็จะมีความเป็นส่วนตัว และพี่ก็ขอเพิ่มระเบียงทางเดินที่เชื่อมระหว่างบ้านคุณพ่อกับบ้านหลังใหญ่ และขอให้มีหลังคาคลุม กันแดดกันฝน มีรางระบายน้ํา เพื่อจะได้ให้ลูกหลานสามารถเดินไปหาคุณพ่อได้อย่างสะดวกสบาย ใกล้ชิดกัน คุณพ่อจะได้ไม่เหงา ส่วนทางลาดที่เข็นวีลแชร์ขึ้นเราก็ออกไอเดียว่าอยากให้อยู่ตรงไหน ขอให้มีระยะปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อจะได้มีร่มเงาต้นไม้ให้คุณพ่อรู้สึกอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทางคุณศุภกิจก็ดูความเหมาะสมให้ในเรื่องของพื้นที่ ระยะและองศาของทางลาดที่ถูกต้องตามหลัก Universal Design เพื่อการใช้งานได้จริง”
“คุณพ่อมีความสุขมากในบ้านหลังนี้ ทุกสัปดาห์เราก็พากันไปเที่ยวทานอาหารนอกบ้าน ให้คุณพ่อได้ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แม้จะไม่สามารถทําอะไรด้วยตัวเองได้เหมือนเดิมก็ตาม เป็นการเปลี่ยนชีวิตที่ทําให้เราได้มีโอกาสดูแลท่านมากขึ้น ตอบแทนความรักที่ท่านมีให้เรา และดูแลเรามาจนเติบโตแยกย้ายขยับขยายกันออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง
ก็อยากให้เรื่องราวของพี่เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่เป็นลูกได้มีเวลาดูแลคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด จัดสรรเวลาทําตามกําลังที่เราสามารถทําได้ ดูแลท่านในยามที่ท่านเริ่มสูงวัยแล้วให้ท่านมีความสุข โดยที่ไม่ต้องรอให้ มีเหตุการณ์มาบังคับให้เราต้องเปลี่ยนชีวิต เพราะบางทีอาจไม่มีโอกาสดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอไป” คุณเอ๋กล่าวทิ้งท้าย
เวลาไม่เคยรอเรา แล้วเราจะรอเวลาไปอีกนานแค่ไหนที่จะหาเวลากลับมาใส่ใจคนที่รักเราแบบไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้ท่านให้มีความสุขใจในบั้นปลายชีวิต
นิตยสาร MeStyle Spectial Issue1 : Elderly Happiness ต้นปี พศ. 2567